ไม่มีใครทราบที่มาที่ชัดเจนของตำนาน แหวนคู่ บางแหล่งอ้างอิงตำนานเทพเจ้ากรีกจากฝั่งอังกฤษ บางแหล่งอ้างอิงตำนานจากฝั่งอียิปต์ ซึ่งแต่ละตำนานล้วนมีความงดงาม หวานซึ้ง อบอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งความรักไม่ต่างกัน และเพื่อความยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย ผู้เขียนจึงได้ทำการรวบรวมตำนานแหวนแห่งความรักจากทุกภูมิภาค มาลงเป็นตอนๆไว้ให้อ่านกัน โดยแบ่งตามระดับความเก่าแก่ของแต่ละตำนาน
ตำนานที่ 1 ไอซิส-โอซิริส
ทั้งสองชื่อที่กล่าวถึง เป็นเทพเจ้าแห่งอาณาจักรไอยคุปต์ หรือที่เราต่างก็รู้จักกันดีในนามของ ประเทศอียิปต์ ดินแดนแห่งมหาอารยะธรรมที่ยิ่งใหญ่ และศาสตร์ลึกลับมากมายที่ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้
เทพโอซิริสเป็นพี่ชายแท้ๆของเทวีไอซิส ทั้งสองต่างประทับใจในกันและกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเด็ก จากความประทับใจแรก ก็เริ่มพัฒนามาเป็นความรักแบบหนุ่มสาว ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าไม่เหมาะสม เพราะปัจจุบัน การแต่งงานกันเองระหว่างพี่น้องในสายเลือดนั้น ยังไม่ได้รับการยอมรับสักเท่าไหร่
เรื่องราวต่างๆเหล่านี้ ได้ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังจากสุสานพระนางแฮตแชปซุต ซึ่งจิตรกรในสมัยนั้นได้ถ่ายทอดตำนานเทพเจ้าเอาไว้ได้อย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่กำเนิดเทพเจ้าโอซิริส ตามด้วยกำเนิดเทวีไอซิส ซึ่งชาวอียิปต์ล้วนนับถือทั้งสองท่านนี้ ในฐานะผู้สร้าง
เทวีไอซิสปลาบปลื้มในตัวพระเชษฐามาตลอด ซึ่งในอียิปต์โบราณนั้น เด็กชาย-หญิงจะถูกเลี้ยงแยกกัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสายเลือดไม่ค่อยเกิดขึ้นสักเท่าไหร่ ทั้งสองพระองค์นี้ก็เช่นกัน ต่างคนต่างก็ได้แต่เฝ้ามองกันอยู่ไกลๆและถ่ายทอดความรู้สึกดีๆให้แก่กันทางแววตา
เทวีไอซิสถือเป็นตัวแทนกุลสตรี พระนางเก่งทั้งเรื่องอาหาร งานฝีมือ การรักษาโรคพื้นฐานและวิทยาการต่างๆอีกมากมาย ซึ่งความสามารถในเรื่องงานฝีมือของพระนางนี่เอง ที่จุดประกายความรักแบบหนุ่มสาวขึ้นภายในใจของทั้งสองพระองค์
วันหนึ่งที่เทพโอซิริสเข้าสู่วิหาร เพื่อทำการขอพรกับเทพเจ้ารา ก่อนเสด็จไปเผยแพร่เกียรติคุณกับอาณาจักรต่างๆ เทวีไอซิสได้นำเสื้อเกราะที่พระนางบรรจงถักทอจากเส้นใยสัมฤทธิ์ขึ้นมาถวายแก่เทพโอซิริส ทำให้ทั้งคู่ต่างก็ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน และในที่สุดก็ทำพิธีแต่งงานกันต่อหน้าวิหารเทพเจ้ารา โดยแลกแหวนแต่งงานคู่ที่พระนางไอซิสถักทอจากเส้นใยทองคำบริสุทธิ์ให้แก่กัน เพื่อแทนคำสัญญา แทนความซื่อสัตย์ชั่วนิรันดร์ และมีความหมายถึงความรักที่ไม่สิ้นสุด ตามลักษณะทรงกลมของวงแหวน
ซึ่งต่อมา เมื่อชนชั้นสูงในราชสำนักแต่งงาน ก็มักจะมีธรรมเนียมแลก แหวนคู่ ตามเทพโอซิริสและเทวีไอซิสอยู่เสมอ แต่ตัวเรือนแหวนอาจจะทำจากวัสดุอื่นๆตามความต้องการของคู่บ่าวสาว ไม่จำกัดว่าต้องเป็นทองคำบริสุทธิ์เพียงเท่านั้น
ต่อมา ความรักของทั้งคู่ก็ถูกขัดขวางจากเจ้าชายเซ็ตผู้เป็นอนุชา ซึ่งได้ทำการวางแผนหลอกเทพโอซิริสให้ลงไปประทับในโลงศพ แล้วนำไปลอยทิ้งกลางแม่น้ำไนล์ ลอยไปไกลจนติดต้นแทมมาริสคู ซึ่งมีขนาดใหญ่จนห่อหุ้มโลงของเทพโอซิริสได้
เทวีไอซิสได้ติดตามหาพระศพพระสวามี จนในที่สุดก็พบว่า ต้นไม้นั้นถูกแกะสลักเป็นเสาประดับไว้ในท้องพระโรงวังของราชาบีบล๊อส แต่ด้วยความซื่อสัตย์ของพระนาง ในที่สุดก็สามารถติดตามเอาพระศพกลับมาจนได้ แต่ต่อมาเจ้าชายเซ็ตรู้เรื่องเข้า ก็ตามมาฉีกพระศพนั้นเป็นชิ้นๆ ถึง 14 ชิ้น และโยนออกไปตามที่ต่างๆ ซึ่งเทวีไอซิสก็พยายามตามหากลับมาได้จนครบและประกอบเข้าด้วยกัน ชโลมด้วยน้ำมันหอม ห่อผ้าพันพระศพเอาไว้ เพื่อรอวันทำพิธีคืนชีพ
เรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ ผ่านการผจญภัยที่ทดสอบคำมั่นสัญญา และรักนิรันดร์ที่ทั้งคู่มีให้ต่อกัน จนในที่สุด เทพโอซิริสก็กลับฟื้นคืนชีพ และครองรักกันยาวนาน หลังจากผ่านเรื่องราวเลวร้ายต่างๆมาด้วยกันอย่างโชกโชน เป็นบทเรียนไว้สอนอนุชนรุ่นหลังต่อไปถึงเรื่องความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีในความรัก และยึดถึอคำมั่นสัญญาในวันที่ต่างคนต่างสวมแหวนให้แก่กันและกัน
ถึงเรื่องราว ความรัก ของเทพเจ้าทั้งสองพระองค์นี้จะจบลงแบบเศร้าๆเพราะการรังควานของเจ้าชายเซตก็ตาม แต่ความซื่อสัตย์และจงรักภักดีตามคำมันสัญญาในวันแต่งงานของทั้งคู่ ก็ยังถูกเล่าขานข้ามยุคสมัยมาจนทุกวันนี้